ถ้าหากมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก… เชื่อว่าหลายคนคงยิ้มกว้างออกมาได้ เพราะมองเห็นแต่ความสุขตอนที่ได้ออกไปเล่นนอกบ้าน ไม่ว่าจะออกไปสำรวจพื้นที่ใกล้ๆ หรือได้เดินหาวัตถุดิบเพื่อมาทำเมนูเด็ดตอนเล่นขายของ หรือหม้อข้าวหม้อแกงใช่ไหม?? แม้จะกินจริงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่แค่ได้เดินออกไปหาของเล่น เด็ดดอกไม้ ใบหญ้าริมทาง หรือแม้แต่การนำของที่มีอยู่ในบ้าน อย่างพวก ถ้วย ถัง จาน ชาม กะละมัง หม้อ หรือแม้แต่ลังกระดาษ ที่ไม่ได้ใช้ มาประดิษฐ์ หรือประยุกต์เป็นของเล่น จะสร้างเป็นบ้าน เป็นรถ เป็นยานอวกาศ เป็นเครื่องบิน หรือแม้แต่เอาเป็นอุปกรณ์ครัว แค่ลองคิดภาพตาม ก็คงจะเริ่มสนุกกันแล้วใช่หรือไม่???
และถ้าในวันนี้… เราในฐานะผู้ที่เป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครู ได้มีส่วนช่วยในการจัดสรรพื้นที่ และของเล่นที่จะช่วยสร้างความสุข และส่งเสริมให้พวกเขาได้มีสุขภาพที่ดี ทั้งทางร่างกายและจิตใจในแบบที่เราเคยได้รับ ด้วยการนำสิ่งของที่มี (Loose Part) มาเพิ่มประโยชน์จากการชวนกันมาประดิษฐ์เป็นของเล่นชิ้นใหม่ แล้วพากันออกไปเล่นข้างนอกอย่างอิสระตามจินตนาการ เพื่อคืนความสุขที่แท้จริงให้กับเด็ก ๆ แทนที่จะให้จมอยู่กับหน้าจอ เหมือนความสุขในแบบที่เราเคยได้รับในวัยเด็กบ้าง
เหมือนกับ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา (มูลนิธิธรรมานุสรณ์) กรุงเทพมหานคร ที่ได้เข้าร่วมในโครงการ “พัฒนาการเล่นในเด็กปฐมวัย” มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่ม We Are Happy ที่ทำโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนา รวมทั้งการพัฒนาการเล่นในเด็กปฐมวัย ได้มีการจัดให้เด็ก ๆ ได้สนุกกันอย่างเต็มที่ในกิจกรรม “Play Day เล่นเปลี่ยนโลก เพื่อชีวิตและความสุขของเด็ก” ด้วยการนำสิ่งของที่มีในพื้นที่ของชุมชน มาจัดสรรเป็นพื้นที่แห่งการเล่นในมุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น มุมสร้าง มุมวิทยาศาสตร์ มุมเครื่องเล่น มุมธรรมชาติ มุมแฟนซี มุมศิลปะ และมุม Loose Part ด้วยการนำของที่ไม่ได้ใช้แล้วมาสร้างเป็นพื้นที่ดี ให้เด็ก ๆ ได้เล่นตามอัธยาศัย รวมทั้งยังส่งเสริมให้ได้เล่นกันได้อย่างอิสระ โดยมีคุณครู และผู้ปกครอง เป็นผู้ดูแลการเล่น หรือมีส่วนในการเล่นร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย จะดีหรือไม่?
ซึ่งคุณครูผู้ดูแลการเล่น คุณครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์ จากศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนชุมชนราษฎร์พัฒนา (มูลนิธิธรรมานุสรณ์) กรุงเทพมหานคร ได้ให้ข้อมูลว่า… การที่เรานำของที่มีมาจัดสรรให้เด็ก ๆ ได้เล่น ได้เรียนรู้ เด็ก ๆ ก็จะสามารถสร้างสรรค์ของเล่นชิ้นใหม่ได้ตามจินตนาการของเขาเอง อย่างการนำกล่อง หรือลังกระดาษ ลูกปัด ดินสอสี เชือก ผ้า กระดาษสี ฯลฯ พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ มาวางไว้ เขาก็สามารถประดิษฐ์ออกมาเป็นตู้เย็น เป็นเตาแก๊ส เป็นกระเป๋าถือ หรือแม้แต่ผลงานศิลปะได้ เพราะเป็นเวลาที่เขาจะได้เล่น ได้จัดการกับความคิดของตัวเองอย่างสร้างสรรค์ และใช้จินตนาการได้อย่างเต็มที่แบบไร้ขีดจำกัด และเมื่อประดิษฐ์แล้วก็ยังสามารถนำออกไปเล่นได้ ทั้งแนวผจญภัย และในเชิงของการเรียนรู้ ที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยง ในการนำสิ่งของต่าง ๆ มาต่อเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ที่เขาต้องการ อย่างเช่นการต่อไม้บล็อกเป็นบ้าน ที่เราเองก็สามารถเข้าไปช่วย ไปเล่นกับพวกเขาได้ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เกิดทักษะทางด้านวิศวกรรม การสร้างสรรค์อุปกรณ์ที่มี รวมถึงการได้ค้นพบตัวเองว่าเมื่อโตขึ้น อีกทั้งยังได้เล่นสนุก ได้ทำกิจกรรมทางกายที่ช่วยส่งเสริมในเรื่องของสุขภาพ เพราะได้ออกแรงขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายตลอดการทำกิจกรรม
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เห็นได้อย่างชัดเจนในการเล่นของพวกเขาเลยก็คือรอยยิ้ม และความสุขจากการเล่น การได้ฝึกทักษะในการเข้าสังคม การได้แบ่งปันกัน ได้แสดงถึงน้ำใจในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น หรือแม้แต่ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นก็จะเกิดขึ้นเอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้ การปล่อยให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยอารมณ์ที่สนุกสนาน ผ่อนคลาย ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบข้อบังคับ ยิ่งจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ จดจำ และซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่ดีได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ซึ่งงานนี้หาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูท่านใด จะลองจัดสรรสิ่งของที่มีในพื้นที่ของตนเองให้กับเด็ก ๆ หรือลองนำเอากิจกรรม Loose Part ไปประยุกต์ให้กับ ลูก หลาน หรือลูกศิษย์ที่โรงเรียนของตนเอง ได้เล่นสนุกกันแบบนี้บ้าง ก็สามารถนำไปประยุกต์ได้แบบไม่ยากเช่นกัน
ขอขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนข้อมูลกิจกรรมฯ : คุณครูซูฟยานี มูซอ หัวหน้าศูนย์ราษฎร์พัฒนาฯ, คุณครูสุกัญญา เย็นประสิทธิ์ และพี่ไก่ สายใจ คงทน จากกลุ่ม We are Happy ผู้ดำเนินงานโครงการ มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนา, โครงการพัฒนาการเล่นในเด็กปฐมวัย