เพราะคำว่า “ครอบครัว” ถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับเด็ก ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพทั้งทางกายและทางสมองให้กับพวกเขา ดังนั้นการได้พากันออกไปเล่นนอกบ้านอย่างน้อยวันละ 60 นาที หรือการได้ทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมการเนือยนิ่งของเด็ก ๆ ได้ อีกทั้งยังถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมทางกายภายนอกห้องเรียนที่สร้างความแอคทีฟ และเพิ่มความสนุกสนานให้เด็กในได้พบเจอและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันที่ดีให้เด็กมีพัฒนาการทางจิตใจ และสามารถค้นพบตัวเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เหมือนกับที่ “ครูกุ๋ย ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน” อีกหนึ่งคุณครูจากโฮมสเตย์ปากช่อง หรือผู้ประสานงาน “กลุ่มไม้ขีดไฟ” มีความพยายามในการที่จะผลักดัน กระตุ้น และส่งเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมดี ๆ ตลอดระยะเวลาการทำงานเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นในเรื่องของการสร้างสรรค์กิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างเด็ก ๆ และครอบครัว ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แบบที่ได้ทั้งความสนุกสนาน และได้สุขภาพไปพร้อม ๆ กันด้วย ตัวอย่างเช่น กิจกรรม “ปีนต้นไม้” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อไม่นานนี้ รวมทั้งกิจกรรมอย่าง “เขาใหญ่ดีจัง คร้าบ” ที่จัดทุกเดือนกุมภาพันธ์ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา กับกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ พ่อ แม่ และ
ผู้ปกครอง ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ที่เน้นในเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกับกลุ่มสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยรอบ ๆ เขาใหญ่ โดยการนำเอาอุปกรณ์ที่มีในพื้นที่มาสร้างงานคราฟเพื่อให้เป็นฐานต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมสนุก ๆ ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อย่างการเดินป่า ศึกษาเส้นทางธรรมชาติ ที่มีนักวิจัยบนเขาใหญ่เข้าร่วมด้วย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นการพาเด็ก ๆ ออกไปศึกษาและทำกิจกรรมนอกห้องเรียน พร้อมได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในห้องเรียนธรรมชาติ อย่างการสำรวจเส้นทางนกเงือก สำรวจเส้นทางของช้างป่า ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางกายที่สนุก ท้าทาย อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ และช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในครอบครัว ที่เด็ก ๆ และผู้ปกครองจะได้มีส่วนร่วม ทั้งการเดินป่า และการปีนป่าย
อย่างกิจกรรม “ปีนต้นไม้” ที่ทางกลุ่มไม้ขีดไฟจัดขึ้นนั้น “ครูกุ๋ย” บอกว่า… ตั้งใจทำให้เหมือนกับการปีนขึ้นไปซ่อมโพรงต้นไม้ให้กับนกเงือก แล้วใช้การโยนเชือกลงมาให้ทุกคนได้ปีนขึ้นไป เพื่อให้เกิดการแอคทีฟในตัวเอง โดยมีกลุ่มนักวิจัยนกเงือกที่เขาใหญ่มาช่วยสอนในเรื่องของการใช้อุปกรณ์เซฟตี้ต่าง ๆ รวมทั้งสอนวิธีการปีนต้นไม้สลับกันระหว่างพ่อแม่และเด็ก ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงประโยชน์เสริมสร้างสายสัมพันธ์ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ซึ่งกันภายในครอบครัวอย่างเป็นธรรมชาติ ที่จะช่วยในเรื่องของการพัฒนาสมอง และร่างกายให้กับเด็ก ๆ อย่างแท้จริง
ซึ่งเป้าหมายหลักการทำงานของ “กลุ่มไม้ขีดไฟ” ที่ผ่านมา “ครูกุ๋ย” เน้นในเรื่องของการช่วยเหลือเด็ก ๆ เป็นหลัก เนื่องจากในโรงเรียนประถมของหลาย ๆ ประเทศได้บรรจุรูปแบบกิจกรรมในลักษณะนี้ไว้ในระบบการศึกษาแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มทำอย่างจริงจัง ดังนั้นการได้พาเด็ก ๆ ไปทำอะไรที่นอกเหนือจากกิจกรรมเดิม ๆ อาจช่วยสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้กับพวกเขาได้ จึงเป็นหน้าที่สำคัญของคนในครอบครัว ที่จะช่วยกันทำให้พวกเขาได้รู้สึก หรือมองเห็นคุณค่าที่มีในตัวเอง และลดโอกาสในการที่จะไปทำร้ายผู้อื่น หรือไปทำอะไรที่ไม่ดี ๆ ในอนาคตได้
ตัวอย่างของการ Plan Do Review 45 นาที ของการเรียนการสอน ด้วยการปล่อยให้เด็กๆ เลือกเล่นโดยมีครูผู้สอนเป็นผู้คอยสังเกตการณ์ก็พบว่า… ใน 45 นาทีนี้ เด็กๆ จะเริ่มรู้ว่าทุกวันจะต้องทำแบบนี้ จะเริ่มมีการคิดและวางแผนล่วงหน้ามาจากบ้าน เช่น วันนี้ฉันจะไปเล่นตรงนี้.. หรือวันนี้ฉันจะทำแบบนี้ เป็นต้น เพราะเกิดการทำซ้ำๆ จนเด็กได้เรียนรู้ว่านี่คือกิจวัตรประจำวันของฉัน ซึ่งเราจะได้เห็นเขาเก็บของเล่นเอง เพราะทำทุกวันจนรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเล่น หรือการทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งกระบวนการจะเป็นอัตโนมัติไปเอง เพียงแต่อาจต้องใช้ระยะเวลานิดหนึ่ง ซึ่งข้อตกลงกับเด็กๆ ก็สำคัญ โดยมีข้อสังเกตที่เป็นจุดอ่อนหลักเลยก็คือ หลายโรงเรียนมีข้อตกลงกับเด็กเยอะเกินไป จนทำให้จำไม่ได้ ซึ่งผมมองว่าการโฟกัสเฉพาะข้อหลักๆ จะช่วยให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ได้เอง และสิ่งเหล่านี้จะวนกลับมาหาขั้นตอนของ Plan Do Review นั่นก็คือการทำซ้ำแล้วซ้ำอีกในที่สุดนั่นเอง
ซึ่งแม้ว่าหลักสูตร “RIECE Thailand” จะแตกต่างจากหลักสูตรการเรียนการสอนอื่น เพราะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการทำกิจกรรม หรือ Active Learning เป็นหลัก แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบกว้างๆ ที่ทางกระทรวงศึกษาธิการวางไว้ เพียงแต่ไม่ได้ใช้แบบเรียนเดียวกันกับโรงเรียนอื่นเท่านั้น โดย RIECE Thailand มุ่งเน้นให้กับเด็กก็คือ… การให้พวกเขาได้คิด ได้วางแผน และได้ปฏิบัติจริง ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์ จะใช้วิธีการแบ่งกลุ่มย่อย 3-4 คนเพื่อให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่ให้นั่งดูคุณครูทำ เพราะมีความเชื่อที่ว่า หากเด็กได้สัมผัสจริง จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้พวกเขาตื่นตัว และตื่นเต้นกับสิ่งที่ได้เห็นและเรียนรู้มากกว่า เหมือนกับว่าเป็นการปลุกแรงบันดาลใจ และปลูกฝังให้เขากล้าคิด กล้าทำ และกล้าฝัน หรือรู้สึกอยากทำมากขึ้น